Hot Topic!
ชี้มูลไฟประดับลาน กทม.สะเทือนถึง 'สุขุมพันธุ์'
โดย ACT โพสเมื่อ Nov 09,2017
- - สำนักข่าวไทยโพสต์ - -
ถือเป็นคดีที่ใช้ระยะไม่ยาวเท่า ไร สำหรับกรณีทุจริตโครงการค่าใช้จ่ายในการประดับตกแต่งไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว (Motif of Light) วงเงิน 39,500,000 บาท หลังจาก "อดีตคนกันเอง" นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำโครงการดังกล่าวอย่าง "กทม." เมื่อต้นปี 2559
เบ็ดเสร็จใช้ระยะเวลาเกือบ 2 ปี หากเทียบกับคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารหรือนักการเมือง ถือว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ใช้เวลารวดเร็วพอสมควร
โดยนายวิลาศยื่นเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้นเดือนมกราคม 2559 จากนั้นในเดือนเมษายนปีเดียวกัน ได้มีมติแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวน "จุมพล สำเภาพล" รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับพวกรวม 14 คน ส่อว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อรัฐ มีนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน
คดีนี้ถือว่าได้รับการจับตามองอย่างมาก โดยเฉพาะ "คุณชายหมู" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่แม้จะไม่ได้ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งอนุกรรมการไต่สวนแต่แรก แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า มีส่วนต้องรับผิดชอบ
แรงกดดันของสังคมทำให้ที่สุด ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจใช้มาตรา 44 สั่งพักงาน และให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ดำรงตำแหน่งแทนจวบจนปัจจุบัน
ขณะที่ผลการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบว่า คดีนี้มีเจ้าหน้าที่จากทั้งหมดที่ถูกกล่าวหา ได้แก่ น.ส.ปราณี สัตยประกอบ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว, นายธวัชชัย จันทร์งาม ผู้อำนวยการกองการท่องเที่ยว, นายมรกต ภูมิพานิช และนายสิทธิโชค อภิบาล นักพัฒนาการท่องเที่ยวปฏิบัติการ กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83
นอกจากนี้ ยังมีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2552 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 82 (1) (2) มาตรา 83 (3) มาตรา 85 (1) (7) ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2554 มาตรา 44
โดยมีบริษัท คิวริโอ ทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด, บริษัท สรรค์สร้าง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดทำไฟประดับ น.ส.กันติกานต์ อินทศร, นายวีระศักดิ์ ศิริจันทร์เพ็ญ, นางสิริพร ชาวปราการ และ น.ส.คุณัณญา จรูญภาพิมล เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดอาญาดังกล่าว
ทั้งหมดจะต้องถูกดำเนินคดีอาญา โดยหลังจากนี้ ป.ป.ช.จะส่งสำนวนให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาล กับอีกทางหนึ่งจะต้องถูกลงโทษทางวินัย
ส่วนผู้บริหารอย่าง "จุมพล" ที่เป็นผู้เห็นชอบค่าใช้จ่ายในโครงการ คณะกรรมการ ป.ป.ช.กลับมองว่าไม่มีความผิด จึงให้ข้อหาตกไป
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะแม้หลายคนจะรอดจากความผิดในเรื่องที่เกี่ยวกับการเสนอราคาต่อรัฐ แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้สั่งไต่สวนข้อเท็จจริงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้เกี่ยวข้องอีกกระทงคือ กรณีจัดทำเอกสารเท็จ จำนวน 16 ราย
เท่ากับว่า อาจมีเจ้าหน้าที่ กทม. เอกชน รายเดิมโดนเพิ่มอีกกระทง ส่วนคนที่ถูกกล่าวหาก่อนหน้านี้ยังต้องมี "ห่วง" หายใจได้ไม่ทั่วท้องอยู่
อย่างไรก็ตาม การชี้มูลครั้งนี้แม้จะเป็นระดับเจ้าหน้าที่และเอกชน ในขณะที่ผู้บริหาร กทม.ระดับบนรอดทั้งหมด แต่เหมือนว่า คนที่น่าจะกังวลที่สุดหลังจากนี้กลับไม่ใช่เจ้าหน้าที่และเอกชนที่ถูกชี้มูล หรือกำลังถูกไต่สวน ทว่าเป็น "คุณชายหมู" ที่ไม่ได้ถูกตั้งอนุกรรมการไต่สวนตั้งแต่แรก
เพราะครั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้สั่งไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ระงับยับยั้งหรือตรวจสอบการทุจริตในโครงการดังกล่าว
ข้อกล่าวหานี้คือ ข้อกล่าวหาเดียวกับที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกชี้มูลในโครงการรับจำนำข้าว ก่อนที่ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะตัดสินจำคุก 5 ปี จากกรณีปล่อยให้มีการทุจริตในการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
และเรื่องไฟประดับ ป.ป.ช.ชี้มูล แล้วว่า ส่อทุจริตจริง มันจึงมิวายที่ "คุณ ชายหมู" อาจต้องมีส่วนรับผิดชอบในทางกฎหมายด้วย อยู่ที่ว่ามีหลักฐานยืนยันได้หรือไม่ว่า อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2 สมัยรายนี้ รู้เห็นกับเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่แรก
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน